วันจันทร์ที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2553

แหล่งท่องเที่ยวจังหวัดอ่างทอง

จังหวัดอ่างทองมีแหล่งท่องเที่ยวมากมาย ทั้งทางด้านธรรมชาติ ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่น ซึ่งแยกเป็นอำเภอได้ดังนี้

อำเภอเมืองอ่างทอง
วัดอ่างทองวรวิหาร ตั้ง อยู่ข้างศาลากลางจังหวัดอ่างทอง มีสิ่งที่น่าสนใจในวัด ได้แก่ พระอุโบสถ พระเจดีย์ หมู่กุฎิทรงไทย ซึ่งเป็นศิลปะการก่อสร้างตามแบบสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น
วัดต้นสน
อยู่ในเขตเทศบาลเมืองอ่างทอง ตรงข้ามวิทยาลัยเทคนิคอ่างทอง ห่างจากศาลากลางจังหวัดประมาณ 2 กม. เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปสมเด็จพระศรีเมืองทอง ทำด้วยโลหะ ขนาดหน้าตักกว้าง 6 วา 3 ศอก 9 นิ้ว สูง 9 วา 2 ศอก 19 นิ้ว
ศาลหลักเมือง
อยู่ตรงข้ามศาลากลางจังหวัด เป็นอาคารจตุรมุข (4 หน้า) ภายในศาลมีภาพจิตรกรรมฝาผนัง ภาพพุ่มข้าวบิณฑ์ ก้านแย่ง สวยงามมาก
สวนปลา
อยู่ บริเวณใกล้สี่แยกไฟแดงหน้าเรือนจำจังหวัดอ่างทอง มีปลาช่อนอะเมซอนขนาดใหญ่จำนวนมาก และปลาพื้นเมืองอื่น ๆ เช่น ปลาแรด ปลาสวาย ปลาเทโพ ฯลฯ ไว้ให้นักท่องเที่ยวชม
วัดปลดสัตว์
ตั้งอยู่ที่บ้านแห หมู่ 4 ต.บ้านแห ห่างจากจังหวัดประมาณ 7 กม. ภายในบริเวณมีหอสูงก่อด้วยอิฐแปลกกว่าที่อื่น ๆ ตรงยอดเป็นเจดีย์ทรงลังกา สามารถมองเห็นได้ในระยะไกล
วัดจันทรังษี
อยู่ ที่บ้านนา หมู่ 9 ต.หัวไผ่ มีพระพุทธรูปที่ศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งประชาชนนิยมเรียกพระนามว่า "หลวงพ่อโยก" และวัดจันทรังษี กำลังดำเนินการก่อสร้างพระวิหารหลวงพ่อสด ซึ่งองค์หลวงพ่อสด เป็นพระพุทธรูปโลหะ ขนาดหน้าตักกว้าง 6 เมตร 9 นิ้ว สูง 9.9 เมตร องค์ใหญ่ที่สุดในโลก

อำเภอป่าโมก
วัดป่าโมกวรวิหาร เป็นพระอารามหลวง อยู่ในเขตเทศบาลตำบลป่าโมก ห่างจากจังหวัดประมาณ 18 กม. สิ่งที่น่าสนใจในวัด ได้แก่ วิหารพระพุทธไสยาสน์ ตัววิหารสร้างในสมัยพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์ ึ่งเป็นพระนอนที่มีขนาดใหญ่มากองค์หนึ่ง
ความยาวจากพระเมาลีถึงพระบาท 22.58 เมตร องค์พระก่ออิฐถือปูนปิดทอง สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยสุโขทัย ด้านหน้าพระวิหารเป็นที่ประดิษฐานของ พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช และสมเด็จพระเอกาทศรถ

ในพระราชพงศาวดารกล่าวว่า สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ก่อนที่จะยกทัพไปรบกับพระมหาอุปราชา ก็ได้เสด็จมาชุมนุมพลที่วัดนี้ และได้ถวายการสักการบูชาพระพุทธรูปองค์นี้ด้วย
วัดสระแก้ว สร้างเมื่อปี พ.ศ.2242 เดิมชื่อวัดสระแก เป็นที่ตั้งของ "สามัคคีสมาคาร" ซึ่งเป็นโครงการทอผ้าตามประราชประสงค์ อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงอุตสาหกรรม ผ้าที่ทอได้แก่ ผ้าซิ่น ผ้าฝ้าย ผ้าขาวม้า ผ้าปูโต๊ะ ผ้าม่าน ฯลฯ นอกจากนี้ ยังเป็นสถานที่เลี้ยงเด็กกำพร้า และได้จัดตั้งคณะลิเกเด็กกำพร้าวัดสระแก้ว เพื่อหารายได้ช่วยเหลือค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูเด็กกำพร้าด้วย
วัดท่าสุทธาวาส
เป็นวัดเก่าแก่สมัยอยุธยาตอนต้น ในการศึกสงครามครั้งกรุงศรีอยุธยา บริเวณวัดท่าสุทธาวาส เป็นเส้นทางเดินทัพข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ตรงบริเวณนี้ ปัจจุบันสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีทรงรับไว้ในพระอุปถัมภ์ โดยมีการจัดสร้างพลับพลาที่ประทับกลางสระน้ำ ข้างพลับพลาที่ประทับเป็นที่ประดิษฐานของพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระ นเรศวรมหาราชและสมเด็จพระเอกาทศรถ ภายในพระอุโบสถมีภาพจิตรกรรมฝาผนังเรื่องพระมหาชนก ประวัติเมืองอ่างทอง และภาพฝีพระหัตถ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ที่ทรงจรดปลายภู่กันวาดผลมะม่วง นอกจากนี้ภายในบริเวณวัดยังเป็นศูนย์ตุ๊กตาชาววัง ซึ่งเป็นโครงการตามพระราชประสงค์ด้วย
หมู่บ้านทำกลองตำบลเอกราช ตั้งอยู่ที่บ้านแพ ต.เอกราช หลังตลาดป่าโมก ริมฝั่งซ้ายของแม่น้ำเจ้าพระยา ใช้ถนนสายในผ่านสำนักงานเทศบาลตำบลป่าโมก ซึ่งขนานไปกับลำคลองชลประทานยางมณี โดยเริ่มผลิตกลองมาตั้งแต่ พ.ศ.2470
หลังจากเสร็จฤดูทำนา ไม้ที่นิยมนำมาทำกลอง คือ ไม้ฉำฉา เพราะขุดเนื้อไม้ได้ง่าย กลองที่ทำมีตั้งแต่ขนาดเล็ก ที่นิยมซื้อซื้อหาไว้เป็นของที่ระลึกจนถึงขนาดใหญ่
เช่น กลองทัต ที่น่าชมมาก ได้แก่ กรรมวิธีการทำกลองตั้งแต่เริ่มกลึงไม้เรื่อยไป
จนถึงการขึ้นกลอง การฝังหมุด
ตุ๊กตาชาววังบางเสด็จ เป็นโครงการที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงมีพระราชดำริให้จัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2519 เพื่อให้เป็นงานอาชีพเสริมเพิ่มพูน รายได้ให้แก่ราษฎร ร้านจำหน่ายตุ๊กตาชาววังอยู่ที่ศาลาการเปรียญวัดท่าสุทธาวาส

และส่งมาจำหน่ายที่ร้านจิตรลดาด้วย
อนุสาวรีย์พันท้ายนรสิงห์ ตั้งอยู่ที่วัดนรสิงห์ หมู่ 2 บ้านตะพุ่น ต.นรสิงห์ ห่างจากจังหวัดประมาณ 8 กม.ตามถนนสายอ่างทอง - ป่าโมก อนุสาวรีย์พันท้ายนรสิงห์อยู่บนเนินดินสูง หันหน้าออกถนน จัดสร้างเมื่อปี พ.ศ.2531 เพื่อเป็นที่ระลึกถึงพ้นท้ายนรสิงห์ พันท้ายเรือพระที่นั่งเอกไชยสมัยพระเจ้าเสือ ซึ่งยืนยันขอรับโทษประหารชีวิตตามกฎมณเฑียรบาลที่ไม่สามารถบังคับเรือพระที่ นั่งจนหัวเรือกระแทกกิ่งไม้หักลง เพื่อมิให้เป็นเยี่ยงอย่างแก่อนุชนรุ่นหลังสืบต่อไป พฤติกรรมของพันท้ายนรสิงห์ได้รับการสรรเสริญในประวัติศาสตร์ตราบจนทุกวันนี้
วัดถนน อยู่ ห่างจากวัดป่าโมกวรวิหาร ประมาณ 10 กม.ภายในวัดมีหลวงพ่อพุทธรำพึง เป็นพระพุทธรูปยืน แกะสลักด้วยไม้สูง 2 เมตรเศษ ประดิษฐานอยู่ภายในมณฑปอันสวยงาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีรอยพระพุทธบาทลอยฟ้าซึ่งแกะสลักด้วยไม้ ติดอยู่บนเพดาน มีขนาดโดยประมาณ กว้าง 30 นิ้ว ยาว 70 นิ้ว อายุนับ 100 ปี นับได้ว่าเป็นสิ่งแปลกมหัศจรรย์อย่างหนึ่ง เพราะรอยพระพุทธบาทนั้น ปกติอยู่ที่พื้นเท่านั้น
วัดพินิจธรรมสาร
ตั้งอยู่ที่ตำบลบางปลากด ริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันออก ตามถนนสายอ่างทอง - ป่าโมก - อยุธยา กิโลเมตรที่ 15 เดิมชื่อ "วัดกะสอบ" มีสิ่งที่น่าสนใจคือ วิหารสร้างในสมัยอยุธยาตอนปลาย และพระพุทธรูปปูนปั้นขนาดใหญ่ หน้าตักกว้างประมาณ 6 วาเศษ แบบ"หลวงพ่อโต" ปางมารวิชัย นั่งขัดสมาธิเพ็ชรและสกุลเชียงแสนรุ่นแรก ประดิษฐานอยู่กลางแจ้ง

อำเภอโพธิ์ทอง
วัดโพธิ์ทอง ห่างจากอำเภอเมืองอ่างทองประมาณ 9 กม. ตามเส้นทางสายอ่างทอง - โพธิ์ทอง ในพระราชพงศาวดารกล่าวว่า เป็นวัดที่กรมขุนพรพนิต(เจ้าฟ้าอุทุมพรหรือขุนหลวงหาวัด) ได้เสด็จมาประทับที่วัดนี้เมื่อพระองค์ทรงผนวช
ตึกคำหยาด
อยู่ในท้องที่ตำบลคำหยาด ถัดจากวัดโพธิ์ทองไปทางทิศตะวันตก ประมาณ 2 กม. ตัวอาคารตั้งอยู่กลางทุ่งนา ก่อด้วยอิฐถือปูนขนาดกว้าง 10 เมตร ยาว 20 เมตร สภาพปัจจุบันมีเพียงผนัง 4 ด้าน แต่ยังคงเห็นเค้าความสวยงามทางด้านศิลปกรรม โดยเจ้าฟ้าอุทุมพรทรงสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2310
วัดขุนอินทประมูล อยู่ในเขตตำบลอินทประมูล สร้างขึ้นในสมัยสุโขทัย เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีความยาวจากพระเมาลีถึงพระบาท 50 เมตร วัดนี้อยู่กลางทุ่งนา

พระวิหารหักพังหมด ไม่มีหลังคา ที่หน้าพระนอนองค์นี้มีรูปปั้นของชายคนหนึ่งเล่ากันว่า
ขุนอินทประมูล ซึ่งเป็นนายอากรได้ยักยอกเอาเงินหลวงมาสร้างต่อเติมองค์พระ ซึ่งเดิมมีความยาวเพียง 40 เมตร ครั้นพระมหากษัตริย์ทรงทราบเรื่องก็ตรัสถามว่า
เอาเงินที่ไหนมาสร้าง ขุนอินทประมูลก็ไม่ตอบ จึงถูกเฆี่ยนจนตาย
วัดนี้จึงได้ชื่อว่าวัดขุนอินทประมูล
วัดท่าอิฐ วัดท่าอิฐตั้งอยู่ที่บ้านท่าอิฐ ต.บางพลับ สร้างเมื่อปี พ.ศ.2304 บริเวณที่ตั้งวัดเดิมเข้าใจว่าเป็นที่ปั้นเผาอิฐนำไปก่อสร้างวัดขุนอิน ทประมูล และในคราวขุดดินเพื่อวางศิลาฤกษ์ ได้พบอิฐหน้าวัวขนาดใหญ่ นับว่าเป็นสถานที่ขนอิฐหรือท่าขนอิฐ และเมื่อได้สร้างวัดขึ้นจึงขนานนามว่าวัดท่าอิฐ พระประธานในอุโบสถชาวบ้านเรียกว่า "หลวงพ่อเพ็ชร" พระประธานในวิหารชาวบ้านเรียกว่า"หลวงพ่อขาว" เป็นพระพุทธรูปที่สร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยา ประมาณ 200 กว่าปีมาแล้ว ประดิษฐานอยู่ในวิหารมหาอุด

พระธาตุเจดีย์ศรีโพธิ์ทอง ราวพุทธศักราช 2535 พระครูสุคนธศีลคุณ (หลวงพ่อหอม) มีดำริจะสร้างเจดีย์ขึ้นในบรเวณวัดท่าอิฐ มีความกว้าง 40 เมตร ความสูง 58 เมตร เพื่อทดแทนเจดีย์หลังเดิม ตั้งอยู่บริเวณด้านหน้าอุโบสถที่ผุพังไปตามกาลเวลาและเพื่อบรรจุพระบรม สารีริกธาตุของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระพุทธรูปปางต่าง ๆ ประดิษฐานในพระเจดีย์เป็นสมบัติของศาสนา และเพื่อระลึกถึงถึงพระคุณของพระองค์ที่สั่งสอนสัตว์โลกจนเพียบพร้อมไปด้วย ศีล สมาธิ ปัญญา ผู้ปฏิบัติ ยิ่ง ๆ ขึ้นไปจนสามารถบรรลุคุณธรรมตามความสามารถของแต่ละบุคคล ต่อมาราวพุทธศักราช 2538 พระคณุสุคนธศีลคุณ ได้ทราบข่าวอาการประชวรของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และเป็นช่วงเริ่มที่กำลังก่อสร้างเจดีย์ และด้วยความห่วงใยในพระองค์ท่าน หลวงพ่อหอมได้ตั้งสัจจาธิษฐานว่า ขอให้ในหลวงทรงหายจากอาการพระประชวร ถ้าเป็นไปดังสัจจาธิษฐาน จะสร้างเจดีย์ถวายเป็นพระราชกุศล แด่พระองค์ท่าน และได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานชื่อเจดีย์ว่า "พระธาตุเจดีย์ศรีโพธิ์ทอง"
วังปลาวัดข่อย อยู่ในบริเวณแม่น้อยวัดข่อย หมู่ 1 ต.โพธิ์รังนก ห่างจากจังหวัดอ่างทองประมาณ 12 กม. ปัจจุบันมีปลานานาพันธ์ เช่น ปลาสวาย ปลาตะเพียน ปลาเทโพ ปลาแรด ปลาบึก ฯลฯ อาศัยอยู่รวมกันไม่ต่ำกว่า 50,
000 ตัว และมีพิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน เช่น เรือโบราณประเภทต่าง ๆ อุปกรณ์ในการประกอบอาชีพของชาวนา เช่น ครก โม่ข้าว กระด้ง ฯลฯ อันแสดงถึงวิถีชีวิตชาวไทยภาคกลางเป็นอย่างดี
ค้างคาวแม่ไก่วัดจันทาราม เป็น วัดเก่าแก่ตั้งอยู่ที่บ้านช้าง หมู่ 5 ต.โคกพุทรา บริเวณวัดมีต้นไม้ขึ้นหนาแน่น จึงเป็นที่อยู่อาศัยและแพร่พันธ์ค้างคาวแม่ไก่ และนกนานาชนิดมาหลายชั่วอายุคนแล้ว สามารถจะไปชมได้ทุกฤดูกาล
หมู่บ้านจักสาน
แหล่งหัตถกรรมเครื่องจักสานที่สำคัญของจังหวัดอ่างทอง คือที่ "บ้านเจ้าฉ่า" ตั้งอยู่ที่หมู่ 8 ต.บางเจ้าฉ่า งานจักสานของบางเจ้าฉ่านี้ มีความประณีตสวยงามเป็นพิเศษ และสามารถพัฒนาฝีมือตามความนิยมของตลาด
จึงได้รับการยกย่องว่าเป็นหมู่บ้านอย่างในการพัฒนาอาชีพ

อำเภอวิเศษชัยชาญ
วัดเขียน อยู่ที่หมู่ 8 ต.ศาลเจ้าโรงทอง ห่างจากอำเภอเมืองอ่างทอง ประมาณ 12 กม. ภายในพระอุโบสถมีภาพเขียนฝาผนังที่งดงาม สันนิษฐานว่าเป็นฝีมือช่างสกุลเมืองวิเศษชัยชาญ สมัยอยุธยาตอนปลาย
วัดสี่ร้อย อยู่ริมฝั่งแม่น้ำน้อย หมู่ 4 ต.สี่ร้อย ห่างจากอำเภอเมืองอ่างทอง ประมาณ 12.5 กม.วัดแห่งนี้มีพระพุทธรูปปางป่าเลไลย์ สูง 21 เมตร หน้าตักกว้าง 6 เมตรเศษ เรียกนามว่าหลวงพ่อโต
วัดม่วง
ตั้งอยู่ที่หมู่ 6 ต.หัวตะพาน ห่างจากจังหวัดประมาณ 8 กม. มีพระอุโบสถล้อมรอบด้วยกลีบบัวที่ใหญ่ที่สุดในโลก ภายในมีรูปปั้นเกจิอาจารย์ชื่อดังทั่วประเทศ มีแดนเทพเจ้าไทย แดนนก แดนสวรรค์ และแดนเทพเจ้าจีน ซึ่งมีรูปปั้นเจ้าแม่กวนอิมที่ใหญ่ที่สุดในโลก
อนุสาวรีย์นายดอก นายทองแก้ว ประดิษฐานอยู่หน้าโรงเรียนวิเศษชัยชาญ

หมู่ 2 ต.ไผ่จำศีล เป็นอนุสรณ์สถานที่ชาววิเศษชัยชาญ และชาวอ่างทองร่วมกันสร้าง เพื่อรำลึกถึงคุณงามความดีของวีรบุรุษแห่งบ้านโพธิ์ทะเล ทั้ง 2 ท่าน ที่ได้สละชีวิตเป็นชาติพลีในการสู้รบกับพม่า ที่บ้านค่ายบางระจันอย่างกล้าหาญ เมื่อปี พ.ศ.2305

อำเภอไชโย
วัดไชโยวรวิหาร อยู่บนเส้นทางสายอ่างทอง - สิงห์บุรี ห่างจากจังหวัดประมาณ 18 กม. เป็นพระอารามหลวงชั้นโท เป็นที่ประดิษฐานของ หลวงพ่อโต หรือ "พระมหาพุทธพิมพ์" ขนาดหน้าตักกว้าง 8 วา 6 นิ้ว สูง 11 วา 1 ศอก 7 นิ้ว และรูปหล่อสมเด็จพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) ขนาดหน้าตักกว้าง 5 เมตร สูง 7 เมตร ประดิษฐานในวิหาร หันหน้าลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา
วัดโพธิ์หอม(วัดเฉลิมกาญจนาภิเษก)
ตั้งอยู่ตำบลราชสถิตย์ ห่างจากจังหวัดประมาณ 12 กม. สิ่งที่น่าสนใจในวัดนี้คือ รูปพระพรหมสี่หน้าปูนปั้นขนาดใหญ่ 2 เศียร ซึ่งขุดได้ภายในวัด ประดิษฐานบนพานด้านหน้าฐานพระอุโบสถเดิม ลักษณะศิลปะเป็นแบบขอมและมีกุฏิเจ้าอาวาสหลังใหม่ ซึ่งเป็นศิลปผสมคล้าย ๆ เอเซียและยุโรป

อำเภอแสวงหา
สวนนกธรรมชาติตั้งอยู่ที่หมู่ที่ 2 บ้านริ้วหว้า ต.บ้านพราน ห่างจากจังหวัดประมาณ 24 กม. ในบริเวณสวนนก มีนกท้องนาหลากหลายชนิดนับหมื่น ๆ ตัว มาอาศัยอยู่ตามธรรมชาติ มีทั้งนกกระยาง นกปากห่าง นกกาน้ำ นกกระเต็น นกอีเสือ ฯลฯ บางชนิดก็ใกล้จะสูญพันธ์และชมได้ยาก

วันอาทิตย์ที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2553

การเดินทางจังหวัดอ่างทอง

จังหวัดอ่างทองอยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ 108 กิโลเมตร นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางสู่จังหวัดอ่างทองได้อย่างสะดวก ทั้งโดยรถยนต์ส่วนตัวและรถประจำทาง

การเดินทางไปอ่างทอง

โดยรถยนต์: จากกรุงเทพฯ สามารถไปได้ 3 เส้นทาง คือ

1. ใช้ทางหลวงหมายเลข 1 (พหลโยธิน) แล้วเข้าทางหลวงหมายเลข 32 ผ่านอำเภอบางปะอิน อำเภอบางปะหัน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ไปจนถึงจังหวัดอ่างทอง รวมระยะทางประมาณ 105 กิโลเมตร

2. ใช้ทางหลวงหมายเลข 340 จากจังหวัดนนทบุรี ผ่านจังหวัดปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา จนถึงจังหวัดสุพรรณบุรี เลี้ยวขวาเข้าสู่เส้นทางหมายเลข 350 ไปจนถึงจังหวัดอ่างทอง รวมระยะทางประมาณ 150 กิโลเมตร

3. ใช้เส้นทางกรุงเทพฯ - ปทุมธานี ผ่านอำเภอปากเกร็ด เข้าทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3111 ผ่านอำเภอบางไทร จนถึงอำเภอเสนา เลี้ยวขวาเข้าสู่เส้นทางหมายเลข 3263 ผ่านจังหวัดพระนครศรีอยุธยา แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 309 ผ่านอำเภอป่าโมก ไปจนถึงจังหวัดอ่างทอง รวมระยะทางประมาณ 140 กิโลเมตร

โดยรถประจำทาง: มีรถประจำทางปรับอากาศสายกรุงเทพฯ-อ่างทอง ออกจากสถานีขนส่งสายเหนือ หมอชิต 2 ถนนกำแพงเพชร 2 ทุกวัน วันละหลายเที่ยว สอบถามรายละเอียดได้ที่บริษัท ขนส่ง จำกัด โทร.1490 www.transport.co.th

ปัจจุบันบริษัท ขนส่ง จำกัด ได้เปิดให้บริการจองตั๋วรถโดยสารออนไลน์แล้ว ติดต่อได้ที่ www.thaiticketmajor.com

การเดินทางภายในอ่างทอง

ในตัวจังหวัดอ่างทองมีรถชนิดต่างๆ ให้บริการ นักท่องเที่ยวสามารถเลือกใช้บริการยานพาหนะต่างๆ ได้หลายรูปแบบตามความเหมาะสม

รถสองแถว มีวิ่งบริการจากสถานีขนส่งไปยังที่ต่างๆ ในตัวเมือง นักท่องเที่ยวอาจเหมารถสองแถวไปเที่ยวได้ทั้งในเมืองและต่างอำเภอ คิดราคาวันละ 1,000-2,000 บาท ขึ้นอยู่กับระยะทางและการต่อรอง

รถสามล้อเครื่องและมอเตอร์ไซค์รับจ้าง จอดอยู่ตามจุดต่างๆ ในจังหวัด เช่น หน้าตลาดเทศบาล หน้าสถานีขนส่ง ค่าบริการมีทั้งแบบตกลงกันตามแต่ระยะทางและแบบเหมาจ่าย

ระยะทางจากอำเภอเมืองอ่างทองไปยังอำเภอต่างๆ คือ

อำเภอโพธิ์ทอง ระยะทาง 11 กิโลเมตร

อำเภอป่าโมก ระยะทาง 12 กิโลเมตร

อำเภอวิเศษชัยชาญ ระยะทาง 13 กิโลเมตร

อำเภอไชโย ระยะทาง 15 กิโลเมตร

อำเภอแสวงหา ระยะทาง 25 กิโลเมตร

อำเภอสามโก้ ระยะทาง 27 กิโลเมตร

วันเสาร์ที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2553

ข้อมูลจังหวัดอ่างทอง

จังหวัดอ่างทองเป็นจังหวัดขนาดเล็ก ตั้งอยู่บริเวณที่ราบลุ่มภาคกลาง ไม่ไกลจากกรุงเทพมหานคร สามารถเดินทางไปกลับได้ภายในวันเดียว มีแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญส่วนใหญ่เป็นสถานที่ทางประวัติศาสตร์ ศาสนา วัฒนธรรม วิถีชีวิตและภูมิปัญ ญาชาวบ้าน

ปัจจุบันอ่างทองอุดมไปด้วย งานหัตถก รรมท้อง ถิ่น ทั้งงานปั้นตุ๊กตาชาววัง การทำกลอง การทำอิฐดินเผา และการผลิตเครื่องจักสาน เป็นแหล่งกำเนิดเพลงพื้นบ้านลิเก และเต็มไปด้วยวัดที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ และมีความสวยงามน่าสนใจมากมายกว่าถึงกว่า 200 วัด

จังหวัดอ่างทองมีเนื้อที่ประมาณ 968.4 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 605,232.5 ไร่ จัดเป็นจังหวัดที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 71 ของประเทศไทย สภาพพื้นที่มีลักษณะคล้ายรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีความกว้างตามแนวทิศตะวันออกถึงทิศตะวันตก และความยาวตามแนวทิศเหนือถึงทิศใต้ใกล้เคียงกั น คือ ประมาณ 40 กิโลเมตร ภูมิประเทศโดยทั่วไปเป็นที่ราบลุ่ม ลักษณะคล้ายอ่าง ไม่มีภูเขา พื้นที่ส่วนใหญ่เหมาะแก่การปลูกข้าว ทำไร่ ทำนา และทำสวน มีแม่น้ำสายสำคัญ คือ แม่น้ำน้อยและแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งไหลผ่านอำเภอไชโย อำเภอเมืองฯ และอำเภอป่าโมก รวมระยะทางประมาณ 40 กิโลเมตร

บริเวณจังหวัดอ่างทอง ในปัจจุบันนี้ สันนิษฐานว่าเคยมีผู้คนเข้ามาตั้งถิ่นฐาน และเป็นชุมชนเมืองขนาดย่อมตั้งแต่สมัยทวารวดี โดยมีหลักฐานที่ยังเหลืออยู่ในปัจจุบันก็คือคูเมือง ที่บ้านคูเมือ ง ตำบลห้วยไผ่ อำเภอแสวงหา ต่อมาในสมัยสุโขทัย เมืองอ่างทองได้รับเอาศิลปวัฒนธรรมจากสุโขทัยมาด้วย โดยจะเห็นได้จากลักษณะของพระพุทธรูปสำคัญในจังหวัด ที่มีลักษณะเป็นศิลปะแบบสุโขทัยหลายองค์ เช่น พระพุทธไสยาสน์วัดขุนอินทประมูล อำเภอโพธิ์ทอง และพระพุทธไสยาสน์วัดป่าโมกวรวิหาร อำเภอป่าโมก เป็นต้น

ต่อมา ในสมัย กรุงศรีอยุธยาตอนต้น ประมาณปี พ.ศ. 2127 อ่างทองถูกยกฐานะขึ้นเป็นเมือง ชื่อ “แขวงเมืองวิเศษชัยชาญ” ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำน้อย ต่อมากระแสน้ำในแม่น้ำน้อยเปลี่ยนทิศไป การคมนาคมระหว่างแม่น้ำน้อยกับแม่น้ำเจ้าพระยาทำได้ไม่สะดวก เมืองจึงถูกย้ายไปอยู่ที่ตำบลบ้านแห ริมฝั่งด้านตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา พร้อมกับขนานนามให้เป็นสิริมงคลแก่เมืองใหม่ว่า “เมืองอ่างทอง”

ต่อ มาในปี พ.ศ. 2356 พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยโปรดให้ย้ายเมืองอ่างทองไปตั้งที่ปากคลอง บา งแก้ว ตำบลบางแก้ว ริมฝั่งซ้ายของแม่น้ำพระยา และเป็นที่ตั้งของอำเภอเมืองฯ จังหวัดอ่างทอง มาจนถึงปัจจุบัน ส่วนเมืองวิเศษชัยชาญยังคงเป็นเมืองมาจนถึงปี พ.ศ. 2439 จึงลดฐานะลงเป็นอำเภอ เรียกว่า “อำเภอไผ่จำศีล” ภายหลังจึงเปลี่ยนชื่อเป็น “อำเภอวิเศษชัยชาญ” จนถึงปัจจุบัน

เมืองอ่างทองมีพื้นที่ติดต่อกับ กรุงศรีอยุธยา จึงมีประวัติศาสตร์เกี่ยวเนื่องกันหลายตอน และเนื่องจากเมืองอ่างทองเคยเป็นยุทธภูมิระหว่างทหารไทยกับทหารพม่าหลาย ครั้ง จึงมีบรรพบุรุษของชาวเมืองอ่างทองสร้างวีรกรรมอันกล้าหาญในการรบกับพม่าหลาย ท่าน เช่น นายแท่น นายโชติ นายอิน และนายเมือง ชาวบ้านสีบัวทอง อำเภอแสวงหา และที่สำคัญคือนายดอก ชาวบ้านกรับ และนายทองแก้ว ชาวบ้านโพธิ์ทะเล เมืองวิเศษชัยชาญ ที่ได้ร่วมกับชาวบ้านเมืองวิเศษชัยชาญอีกกว่า 400 คน ออกสู้รบกับพม่าที่ค่ายบางระจัน นับเป็นวีรกรรมอันกล้าหาญชาญชัยของนักรบไทย ที่ประทับอยู่ในความทรงจำของคนไทยตลอดมา ประชาชนชาวเมืองอ่างทองจึงพร้อมใจกันสร้างอนุสาวรีย์ไว้ที่วัดวิเศษชัยชาญ อำเภอวิเศษชัยชาญ เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่นายดอกและนายทองแก้ว โดยสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดอนุสาวรีย์เมื่อวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2520 ทางจังหวัดอ่างทองจึงได้ถือเอาวันที่ 25 มีนาคมของทุกปี เป็นวันทำพิธีวางพวงมาลาสักการะอนุสาวรีย์นายดอก นายทองแก้ว เพื่อเป็นการระลึกถึงคุณความดีในวีรกรรมกล้าหาญของท่าน นับแต่นั้นเป็นต้นมา

ปัจจุบัน จังหวัดอ่างทองแบ่งการปกครองออกเป็น 7 อำเภอ คือ อำเภอเมืองอ่างทอง อำเภอไชโย อำเภอป่าโมก อำเภอโพธิ์ทอง อำเภอแสวงหา อำเภอวิเศษชัยชาญ และอำเภอสามโก้